Language Experiences Management for Early Childhood
การจัดประสบการณ์ภาษาสำหรับเด็กปฐมวัย
ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บบล็อกของนางสาววศินี อินอ่อน เอกการศึกษาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์
เกี่ยวกับฉัน
Unknown
ดูโปรไฟล์ทั้งหมดของฉัน
วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555
สัปดาห์ที่ 4 ( 4 ก.ค.55 )
- อาจารย์ให้แบ่งกลุ่ม 4 คน ไปสัมภาษณ์เด็กปฐมวัย เเล้วถ่ายคลิปวีดีโอมา 3 นาที
- สัมภาษณ์ยังไงจะได้รู้ถึงพัฒนาการทางภาษา ของเด็ก
- ทำ Power point สรุปมานำสนอหน้าห้อง
ค้นคว้าเพิ่มเติม
การจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาสำหรับเด็กปฐมวัยควรจัดให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่เหมาะสมในการพัฒนาเด็กปฐมวัย (DAP) ไม่ควรเป็นการสอนทักษะทางภาษาอย่างเป็นทางการ แต่ควรเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีความท้าทายให้เด็กเกิดความต้องการที่จะร่วมกิจกรรม และสามารถประสบความสำเร็จในการทำกิจกรรมด้วยตนเอง หรือมีผู้ใหญ่คอยชี้แนะ เป็นกิจกรรมที่เหมาะสมกับระดับพัฒนาการทางภาษาของเด็ก และช่วยให้เด็กก้าวไปสู่พัฒนาการทางภาษาในขั้นต่อไป ครูควรจัดกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อตอบสนองต่อความแตกต่างกันของเด็ก ตัวอย่างการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาสำหรับเด็กปฐมวัย มีดังต่อไปนี้
1. การสนทนาข่าวและเหตุการณ์ (Morning Message)
เป็นกิจกรรมที่เด็กและครูได้สนทนาร่วมกันในช่วงเริ่มต้นกิจกรรมของแต่ละวัน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน และได้เปลี่ยนกันเป็นผู้พูดและผู้ฟัง ครูควรส่งเสริมให้เด็กมีมารยาทที่ดีในการพูดและการฟัง หากเด็กคนใดไม่ต้องการพูดก็ไม่ควรถูกบังคับให้พูด เพื่อให้เด็กที่ไม่มั่นใจในตนเองรู้สึกสบายใจที่จะมีส่วนร่วมในการฟังการสนทนา
หัวข้อที่ใช้สนทนาอาจเกี่ยวกับการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน และเหตุการณ์พิเศษของแต่ละวัน เช่น วันนี้เราจะทำอะไรกันบ้าง จะมีใครมาที่ห้องเราบ้าง ฯลฯ เป็นข่าวสารจากเด็ก ซึ่งเด็กอาจเล่าเรื่องส่วนตัวของตนเอง หรือเล่าเกี่ยวกับสิ่งของที่ตนนำมา (Show & Tell) เด็กที่ได้เล่าเรื่องจะรู้สึกเสมือนว่าตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่ตนกำลังพูดอยู่ นับว่าเป็นการช่วยขยายประสบการณ์ให้แก่เด็กคนอื่นๆ ด้วย และเมื่อเด็กๆรู้ว่าแต่ละวันเขาสามารถเล่าเรื่องเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนได้ เด็กจะเรียนรู้เกี่ยวกับการเตรียมเรื่องที่จะพูดไว้ล่วงหน้า หรือเป็นหัวข้อที่เด็กสนใจ ซึ่งเด็กๆจะพยายามหาข้อมูลมาให้มากที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้ เด็กๆ อาจหาข้อมูลด้วยการพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ สังเกตหรือทดลองด้วยตนเอง ฯลฯ
การสนทนาเป็นวิธีการสำคัญและเป็นวิธีการหลักที่ครูจำเป็นต้องใช้ในการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาของเด็กปฐมวัย เพราะในขณะที่เด็กสนทนากับครู เด็กจะได้ยินแบบอย่างของการใช้ภาษาที่ถูกต้องเหมาะสม เมื่อเด็กสนทนากันเอง เด็กจะมีโอกาสฟังความคิดเห็นของผู้อื่น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ได้ยินคำศัพท์ใหม่ๆ ได้ทำความเข้าใจการพูดของเพื่อนจากสิ่งชี้แนะ (McGee and Richgels, 2000: 160) การที่เด็กได้เล่าเรื่องให้เพื่อนฟังทำให้เด็กรับรู้และเข้าใจเรื่องได้ดีขึ้น มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากขึ้น เด็กได้ใช้ภาษาบ่อยขึ้น เด็กจะรู้จักใช้คำถามถามเพื่อน รู้จักการหาข้อมูลไว้ตอบคำถาม เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และยังช่วยพัฒนาการยอมรับในสิ่งที่ผู้อื่นพูดอีกด้วย ระหว่างการสนทนา ครูควรมีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในการสนทนา ถ้ามีผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่คนอื่นอยู่ด้วยก็ควรให้บุคคลเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนา ไม่ควรมีบรรยากาศของการตัดสินว่าสิ่งที่เด็กพูดถูกหรือผิดเพื่อส่งเสริมให้เด็กต้องการมีส่วนร่วมในการสนทนาและติดตามหัวข้อที่สนทนาอย่างสม่ำเสมอ
2. การอ่านออกเสียงให้เด็กฟัง (Reading Aloud)
เป็นกิจกรรมที่ครูเลือกวรรณกรรมสำหรับเด็กที่ดีมาอ่านให้เด็กฟัง ครูควรจัดให้มีช่วงเวลาเฉพาะสำหรับการอ่านออกเสียงให้เด็กฟัง (Story Time) กิจกรรมนี้อาจจะจัดเป็นกิจกรรมกลุ่มย่อยหรือจัดสำหรับเด็กกลุ่มใหญ่ก็ได้ โดยครูเลือกหนังสือที่เด็กสนใจมาอ่านให้เด็กฟัง ครูควรอ่านชื่อเรื่อง ชื่อผู้แต่ง ผู้วาดภาพประกอบ อ่านเนื้อเรื่องพร้อมกับชี้ข้อความขณะที่อ่าน เปิดโอกาสให้เด็กได้ถามคำถาม หรือสนทนาเกี่ยวกับตัวละคร หรือเรื่องราวในหนังสือ ครูอาจเชิญชวนให้เด็กคาดเดาเหตุการณ์ในเรื่องบ้าง และควรเตรียมข้อมูลที่ช่วยให้เด็กเข้าใจคำยากที่ปรากฎในเรื่อง ถามคำถามที่กระตุ้นให้เด็กคิดวิเคราะห์ และจัดกิจกรรมต่อเนื่องจากเรื่องที่อ่านให้เด็กเลือกทำตามความสนใจ เช่น เตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่ปรากฎในเรื่องในเด็กได้เล่นสมมุติ เตรียมภาพให้เด็กได้เรียงลำดับเรื่องราว เป็นต้น
ช่วงเวลาที่ครูอ่านหนังสือให้เด็กฟังนี้ควรเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่น และมีความสุข ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูและเด็ก ครูควรอ่านหนังสือให้เด็กฟังทุกวันเพื่อช่วยให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อการอ่าน และช่วยให้เด็กมีความรู้เกี่ยวกับการใช้หนังสือ การใช้สิ่งชี้แนะในการคาดคะเนและตรวจสอบการคาดคะเน
3. การให้เด็กเล่าเรื่องซ้ำ (Story Retelling)
เป็นกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความสามารถในการจับใจความ เด็กปฐมวัยเรียนรู้การจับใจความด้วยการฟังนิทาน เพราะนิทานมีโครงสร้าง ลีลาในการเขียน และเรื่องราวที่เด็กคุ้นเคย เอื้อให้เด็กสามารถใช้ความรู้เดิมในการจับใจความจากเรื่องที่ฟังและดูภาพประกอบ เมื่อครูเล่านิทานให้เด็กฟังแล้ว ครูต้องถามคำถามเพื่อกระตุ้นให้เด็กคิดจับใจความสำคัญ ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นแบบอย่างของการคาดคะเน แปลความ ตีความ และตรวจสอบความเข้าใจ แล้วเก็บประเด็นสำคัญในการจับใจความ จากนั้นจึงเปิดโอกาสให้เด็กเล่าเรื่องให้ผู้อื่นฟัง โดยการเล่าเรื่องอาจเป็นกิจกรรมระหว่างครูกับเด็ก หรือเป็นกิจกรรมระหว่างเด็กกับเด็กด้วยกัน เพื่อให้เด็กเกิดแรงจูงใจในการเรียนและฝึกปฏิบัติในสิ่งที่เรียนรู้ไปแล้ว
เทคนิคในการสอนเล่านิทานแบบเล่าเรื่องซ้ำ ได้แก่ ก่อนเล่านิทานครูถามคำถามให้เด็กคาดคะเน และเชื่อมโยงประสบการณ์เดิม ขณะเล่านิทาน ครูถามคำถามให้เด็กตีความ ให้คาดคะเน ให้แปลความ และตรวจสอบความเข้าใจ หลังเล่านิทานจบควรจัดกิจกรรมให้เด็กได้ทบทวนเรื่องราวที่ได้ฟัง เช่น การทำแผนผังนิทาน หนังสือนิทาน บอร์ดนิทาน กล่องนิทาน ฉากนิทาน แผ่นพับนิทาน ภาพแขวนต่อเนื่อง การเชิดหุ่น ภาพตัดต่อนิทาน บทบาทสมมติ และกะบะนิทาน ทั้งนี้ ครูควรเสริมแรงอย่างเหมาะสมขณะเด็กเล่าเรื่องซ้ำให้ผู้อื่นฟังด้วย (อลิสา เพ็ชรรัตน์, 2539)
4. การอ่านร่วมกัน (Shared Reading)
เป็นกิจกรรมที่มีเครื่องมือหลัก หรือสื่อพื้นฐานคือหนังสือเล่มใหญ่ ซึ่งขนาดของตัวหนังสือใหญ่พอที่เด็กที่นั่งอยู่ข้างหลังมองเห็นคำหรือตัวหนังสือในแต่ละหน้า หนังสือเล่มใหญ่ที่เลือกมาใช้ควรเป็นวรรณกรรมเด็กที่เป็นที่คุ้นเคย และเป็นประเภททายได้
ขั้นตอนของการอ่านร่วมกันเริ่มตั้งแต่การอภิปรายถึงเนื้อเรื่องของหนังสือที่จะอ่าน หรือนำสิ่งของที่สัมพันธ์กับเรื่องมานำเสนอ เพื่อช่วยให้เด็กเริ่มสนใจหนังสือที่จะอ่านและช่วยให้เด็กมีความรู้พื้นฐานในเรื่องที่จะอ่านด้วย อ่านหนังสือให้เด็กฟังทั้งเรื่องเพื่อให้เด็กสนใจ ชี้คำขณะที่อ่านเพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับตัวหนังสือ คำ หรือข้อความเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการอ่าน ให้เด็กสนุกกับส่วนที่ทายล่วงหน้าได้
เมื่ออ่านร่วมกับเด็กหลายครั้งแล้วครูควรจัดกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ส่วนย่อยของข้อความที่เป็นประโยค วลี หรือคำ โดยการทำหน้ากากปิดตัวหนังสือเพื่อให้เด็กเห็นคำหรือวลีที่ต้องการเน้นให้ชัดขึ้นและให้เด็กที่เป็นอาสาสมัครอ่าน นอกจากทำหน้ากากแล้วครูอาจใช้กิจกรรมการเติมคำที่เจาะจงที่หายไป (Cloze) กิจกรรมนี้จะชวยให้เด็กเข้าใจได้ว่าข้อความหรือคำไม่ใช่รูปภาพ และเรียนรู้ว่าตัวหนังสือจะมีทิศทาง ซึ่งการเติมคำที่หายไปนี้อาจเป็นประเภททางเสียงและประเภททางตา หรือครูอาจใช้กิจกรรมการเน้นที่คำสำคัญด้วยการทำบัตรคำสำคัญไว้ให้เด็กนำไปเทียบกับคำในหนังสือตามความสนใจ หรืออาจทำบัตรภาพจากในหนังสือให้เด็กจับคู่ภาพกับเนื้อความในหนังสือก็ได้ (จูดิธ พอลลาด สลอทเธอร์, 2543)
หลังจากที่ได้อ่านร่วมกันแล้ว ครูควรจัดกิจกรรมการสื่อภาษาและกิจกรรมการเล่นเกมภาษา เพื่อให้เด็กได้สื่อความหมายสิ่งที่ได้อ่าน กิจกรรมการสื่อภาษา ได้แก่ การทำหนังสือนิทาน การแสดงละคร การเล่าเรื่องซ้ำ การทำงานศิลปะ การทำภาพผนัง ฯลฯ โดยใช้หนังสือเล่มใหญ่เป็นสื่อ ส่วนกิจกรรมการเล่นเกมภาษา ได้แก่ เกมหาคำที่เหมือนกันในนิทาน เกมหาชื่อตัวละคร เกมพูดตามเครื่องหมายวรรคตอน เกมลำดับภาพและข้อความจากเรื่อง เป็นต้น (สุภัทรา คงเรือง, 2539)
5. การสอนอ่านแบบชี้แนะ (Guided Reading)
เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กมีความรู้พื้นฐาน ในด้านการอ่านอย่างเหมาะสมกับระดับความสามารถของเด็ก เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างครูกับเด็กเป็นรายบุคคลหรือทำงานกับเด็กเป็นกลุ่มย่อย 4 - 8 คน (Stewig and Simpson, 1995)
ครูควรเลือกหนังสือที่มีระดับความยากเหมาะสมกับกลุ่มเด็ก โดยพิจารณาจากความซับซ้อนของเรื่องและภาษาที่ใช้ในนิทาน ลักษณะของประโยคที่เล่าเรื่อง และภาพประกอบ ที่ช่วยให้เด็กคาดเดาเรื่องและคำได้มาใช้ในการอ่านร่วมกับเด็ก กิจกรรมนี้มีเงื่อนไขสำคัญที่กลุ่มเด็กและครูต้องมีหนังสือที่ครูเลือกไว้ทุกคน เมื่อครูประเมินว่าเด็กต้องได้รับการเพิ่มพูนความรู้พื้นฐานเรื่องใด ครูจะตั้งวัตถุประสงค์ในเรื่องนั้น เพื่อนำมาสอดแทรกในการอ่านร่วมกับกลุ่มเด็ก
ความรู้พื้นฐานในการอ่านของเด็ก เช่น ส่วนประกอบของหนังสือ การใช้หนังสือ การคาดเดาเรื่องราวจากภาพหรือโครงสร้างของประโยค การเชื่อมโยงเรื่องราวกับประสบการณ์เดิมของเด็ก การรู้จักคำใหม่ การเล่นกับเสียงของตัวอักษรหรือพยัญชนะต้นของคำ การคาดเดาคำใหม่จากภาพ และตัวอักษร ฯลฯ (Neuman and Bredekamp, 2000) ทั้งนี้ครูต้องกำหนดช่วงเวลาเฉพาะในการสอนอ่านแบบชี้แนะ ซึ่งในแต่ละสัปดาห์เด็กควรมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง สิ่งสำคัญในการสอนอ่านแบบชี้แนะคือ การที่ครูสอนทักษะย่อย ๆ นี้จะต้องไม่ทำมากเกินไปจนเสียอรรถรสของเรื่องที่อ่านด้วยกัน
6. การอ่านอิสระ (Independent Reading)
เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กเลือกอ่านตามความสนใจ สื่อที่ใช้ในการอ่านอาจเป็นหนังสือประเภทต่างๆ คำคล้องจอง เนื้อเพลง หรือสื่อต่างๆ เช่น ป้ายข้อตกลงต่างๆ ในห้องเรียน ป้ายประกาศเตือนความจำ คำแนะนำในการใช้และเก็บของเล่น คำขวัญ คำคล้องจองประจำมุม ป้ายสำรวจชื่อเด็กที่มาโรงเรียน ป้ายแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ ป้ายอวยพรวันเกิด รายการอาหารและของว่างประจำวัน ปฏิทิน รายงานอากาศประจำวัน และป้ายอวยพรวันเกิดเพื่อน เป็นต้น
ครูควรจัดให้เด็กมีเวลาเลือกอ่านอย่างอิสระตามความสนใจ และอาจจัดทำบันทึกการอ่านของเด็ก โดยการให้เด็กเล่าหรือพูดคุยเรื่องที่อ่านให้ครูหรือเพื่อนฟัง ครูช่วยบันทึกสิ่งที่เด็กอ่าน หรืออาจให้เด็กจดชื่อหนังสือที่ตนอ่านลงในสมุดบันทึก
7. การอ่านตามลำพัง (Sustained Silent Reading - SSR)
วิธีการส่งเสริมการอ่านที่ดี คือการให้เด็กมีโอกาสในการอ่านจริงๆ ครูควรจัดให้มีช่วงเวลาเฉพาะที่เด็กทุกคนรวมทั้งครูเลือกหนังสือมาอ่านตามลำพัง ช่วงเวลานี้เด็กจะได้เลือกหนังสือที่ตนชื่นชอบหรือสนใจมาอ่าน แม้ว่าชื่อของกิจกรรมจะเป็นการอ่านเงียบๆ โดยไม่รบกวนผู้อื่น แต่ในทางปฏิบัติเด็กอาจพูดออกเสียงพึมพำระหว่างการอ่านบ้าง ครูไม่ควรบังคับให้ทุกคนเงียบสนิทระหว่างการอ่าน กิจกรรมนี้อาจใช้เวลาประมาณ 5-10 นาทีต่อวัน ควรเป็นเวลาที่เด็กมีอิสระในการเลือกอ่านโดยครูไม่ต้องมอบหมายงานต่อเนื่องจากการอ่านให้เด็กทำ (Stewig and Simpson, 1995: 216)
8. การเขียนร่วมกัน (Shared Writing)
เป็นกิจกรรมที่ครูเขียนร่วมกับเด็กโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เด็กใช้กระบวนการเขียนตั้งแต่การการตัดสินใจแสดงความคิดที่ประมวลไว้ออกมาเป็นภาษาเขียนให้ผู้อื่นรับรู้ด้วยการสร้างตัวอักษรหรือสัญลักษณ์ สื่อความหมายที่ครอบคลุมความหมายที่ต้องการสื่อ โดยจัดเรียงตำแหน่งสิ่งที่เขียนจากซ้ายไปขวา และบนลงล่าง การเขียนร่วมกันทำให้เด็กรู้ว่าความคิดสามารถบันทึกไว้ด้วยข้อความได้ และทำให้เด็กเกิดทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการเขียน
ในการเขียนร่วมกัน ครูอาจเริ่มต้นด้วยการเชิญชวนให้เด็กสนทนาเกี่ยวกับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นเนื้อหาที่เด็กริเริ่มและสัมพันธ์กับประสบการณ์จริงของเด็ก ครูแสดงแบบอย่างของการตัดสินใจถ่ายทอดความคิดเป็นข้อความหรือสัญลักษณ์โดยการกระตุ้นให้เด็กช่วยกันบอกสิ่งที่ต้องการสื่อความหมาย แล้วให้เด็กช่วยกันสรุปข้อความที่เด็กช่วยกันบอกให้กระทัดรัด เหมาะที่จะเขียน เพื่อให้เด็กจำข้อความนั้นได้ก่อนลงมือเขียน ให้ครูเป็นคนเขียนข้อความเอง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการวิจารณ์เด็กที่เขียนผิดต่อหน้าเพื่อนและครู จนเด็กที่เขียนเสียกำลังใจ และไม่กล้าเขียนอีก ระหว่างที่เขียนควรหมั่นถามให้เด็กติดตามบอกให้ครูเขียน ควรเขียนให้เด็กเห็นลีลามือที่ถูกต้อง เขียนตัวหนังสือขนาดใหญ่พอที่เด็กจะเห็นทิศทางการเขียนที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ลายมือที่ครูเขียนมีส่วนสำคัญในการเป็นแบบอย่างให้แก่เด็ก ครูจึงควรระวังเรื่องลายมือและลีลามือที่ถูกต้องสวยงาม เมื่อเขียนเสร็จแล้วจึงอ่านทวนให้เด็กฟัง อาจให้เด็กอ่านทวนอีกครั้ง และให้เด็กวาดภาพประกอบ (ภาวิณี แสนทวีสุข, 2538)
ตัวอย่างกิจกรรมการเขียนร่วมกัน ได้แก่ กิจกรรมสำรวจเด็กมาโรงเรียน ซึ่งให้เด็กได้ลงชื่อมาโรงเรียนตามความสมัครใจ จากนั้นเมื่อถึงเวลาสำรวจรายชื่อเด็กและครูสามารถนำใบลงชื่อนี้มาใช้เขียนร่วมกันว่ามีเด็กมาโรงเรียนจำนวนเท่าไร หรือใครไม่มาโรงเรียนบ้าง กิจกรรมประกาศข่าว โดยการเปิดโอกาสให้เด็กหรือครูแจ้งข่าวสารที่ต้องการให้ทุกคนรับรู้ เมื่อครูเขียนตามที่เด็กบอกแล้วสามารถนำข้อความดังกล่าวมาติดประกาศ เป็นต้น
9. การเขียนอิสระ (Independent Writing)
เป็นกิจกรรมที่ที่เด็กริเริ่มเนื้อหาที่ต้องการสื่อความหมายอย่างอิสระในช่วงเวลาของกิจกรรมสร้างสรรค์และเล่นตามมุม เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กเขียนเพื่อสื่อความหมายตามความสนใจและความสมัครใจ เด็กเป็นผู้เลือกเนื้อหาในการทำกิจกรรม เช่น การเขียนถ่ายทอดความคิดที่ผลงานศิลปะและผลงานการต่อบล็อก การบันทึกชื่อนิทานที่อ่าน การเขียนเพื่อทำอุปกรณ์ประกอบการเล่นสมมุติ เช่น ใบสั่งยา เมนู ฯลฯ การบันทึกการสังเกตในมุมวิทยาศาสตร์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
บทความใหม่กว่า
บทความที่เก่ากว่า
หน้าแรก
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น